ผู้ให้กู้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยย้อนหลังเกิน 5 ปี ได้หรือไม่

วันที่ 1 มกราคม 2550 นายเกรงขามกู้เงินจากนายฉลาดจำนวน 50,000บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินภายใน 1 ปี ภายหลังจากที่นายเกรงขามรับเงินแล้ว ก็ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่นายฉลาดเลย นายฉลาดทราบดีว่าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วแต่ก็ไม่ว่าอะไรนายเกรงขาม เพราะต้องการดอกเบี้ยเยอะๆจึงรอเวลาไม่ฟ้องเรียกเงินคืน เวลาผ่านไป 8 ปี นายฉลาดจึงมาฟ้องให้นายเกรงขามรับผิดชดใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างส่งทั้งหมด

คำถาม

นายฉลาดสามารถเรียกดอกเบี้ยย้อนหลังจำนวน 8 ปี ได้หรือไม่

คำตอบ

เรื่องดอกเบี้ยค้างชำระ ถ้าจะฟ้องร้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ต้องนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/33 (1) ที่มีอายุความ 5 ปีมาใช้บังคับ ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยที่เกินกว่า 5 ปีแล้ว ดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่า 5 ปีจึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้

นายฉลาดจะหัวหมอเรียกให้นายเกรงขามชำระดอกเบี้ยค้างชำระเกินว่า 5 ปีนับแต่วันฟ้องไม่ได้ นายฉลาดมีสิทธิฟ้องให้นายเกรงขามชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 5 ปีเท่านั้น ส่วนอายุความในการฟ้องร้อง ไม่ขาดอายุความเนื่องจากฟ้องในกำหนด 10ปี

มีปัญหาสัญญาเงินกู้ ฟ้องบังคับให้ชำระเงิน ปรึกษา ทนายชีวารัตน์

///////////////////////////////////////////////////

เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 3212/2532

การเรียกเอาดอกเบี้ยค้างส่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และรับเงินครบถ้วนเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2518 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้โดยยอมชำระดอกเบี้ยค้างส่งทั้งหมดของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กันยายน2527 คดีโจทก์สำหรับหนี้ดอกเบี้ยค้างส่งจึงไม่ขาดอายุความแต่จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวด้วย จึงย่อมไม่ต้องถูกผูกพันโดยสัญญาดังกล่าว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างส่งได้เพียงภายใน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไป อายุความฟ้องร้องเรียกคืนเงินกู้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164