ผู้ตายมีส่วนประมาทในอุบัติเหตุ สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาได้หรือไม่

คำถาม

นาง  หนึ่ง ข้ามถนนโดยไม่ได้ข้ามสะพานลอย นาง หนึ่ง ถูกนาย สอง ขับรถชนตาย สามีนางหนึ่งสามารถฟ้อง นายสอง ให้รับผิดทางอาญาได้หรือไม่

คำตอบ

ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีอาญาได้ นอกจากเป้นผู้เสียหายทางพฤตินัย (ผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงๆ) ต้องเป็นผู้เสียหายทางนิตินัยด้วย (ต้องไม่มีส่วนร่วมหรือส่วนก่อในการกระทำผิดด้วย) ถ้าข้อเท็จจริงนางหนึ่งมีส่วนประมาทในอุบัติเหตุครั้งนี้ด้วย สามีนางหนึ่งจึงไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องนายสองได้

☆คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2549
เหตุเกิดรถชนกัน
ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่บ้าง ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ในความผิดตาม ป.อ. 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีผู้ตาย
ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5 (2)

โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ

BY MissLadyLawyer ทนายชีวารัตน์

มีปัญหาคดีรถชน  คดีรถชนคน คดีฟ้องเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนจากคนขับรถคู่กรณี เป็นตัวแทนในการเจรจาค่าสินไหมทดแทนและประสานงานคดีรถชนในชั้นพนักงานสอบสวน ประกันตัวและชั้นศาล

ปรึกษา ทนายชีวารัตน์

/////////////////////////////////////////

เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550
แม้บริเวณที่เกิดเหตุมีสะพานลอยทางข้าม และผู้ตายข้ามถนนในช่องเดินรถ
อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 104 ที่บัญญัติว่า “ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม”

การกระทำของผู้ตายดังกล่าว
เป็นเพียงความผิดตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 147

มิใช่หมายความว่า
ถ้าผู้ตายฝ่าฝืนไม่ข้ามถนนตรงทางข้ามตามมาตรา 104 แล้วจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเสมอไป

การพิจารณาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่
ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย

ขณะเกิดเหตุเวลา 5.30 นาฬิกา ท้องฟ้งยังมืด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าข้างฟุตบาทและที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งอยู่กึ่งกลางถนน ผู้ขับรถผ่านบริเวณนั้นยังต้องเปิดไฟหน้ารถ
ซึ่งโดยสภาพไม่น่าจะมองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ไกลเท่ากับเวลากลางวัน

สภาพของถนนที่มีทางเดินรถฝั่งละ 3ช่องเดินรถ
ในเวลาเกิดเหตุเป็นตอนเช้ามืดของวันเสาร์
อันเป็นวันหยุดราชการ รถที่แล่นบนถนนน่าจะน้อยกว่าวันปกติ
ซึ่งทำให้ผู้ขับรถสามารถขับรถได้เร็วขึ้นกว่าวันปกติ
ถนนบริเวณเกิดเหตุเป็นทางตรง การข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งต้องข้ามถนนถึง 6 ช่องเดินรถ
ซึ่งรถที่แล่นไปมาในขณะนั้นน่าจะใช้ความเร็วสูงในสภาพเช่นนั้น

ดังนั้น ผู้ตายควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการข้ามถนน
เนื่องจากเป็นถนนใหญ่มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืน
ซึ่งผู้ขับรถอาจไม่เห็นคนข้ามถนนในระยะไกล
ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้

ตรงจุดที่ผู้ตายข้ามถนน
มีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายบังอยู่อันอาจทำให้จำเลยไม่สามารถเห็นผู้ตายได้ในระยะไกล แต่เห็นในระยะกระชั้นชิด
จึงไม่สามารถหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทัน
เป็นเหตุให้ชนผู้ตาย

ดังนั้น การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้าม
จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291

ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2)