นิติกรรมที่ต้องขอความยินยอม

นิติกรรมที่ต้องขอความยินยอม จากคู่สมรส มีอะไรบ้าง

หลังจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส เรียกว่า “สินสมรส” สามีและภริยาต่างก็มีสิทธิในสินสมรสนี้ฝ่ายละครึ่ง ซึ่งการจัดการเกี่ยวกับสินสมรสบางอย่างจึงต้องจัดการร่วมกัน นิติกรรมที่ต้องขอความยินยอม จากคู่สมรสมีดังต่อไปนี้ คือ

1.ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

2. ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

3.ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

4.ให้กู้ยืมเงิน

5.ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

6. ประนีประนอมยอมความ

7. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

8. นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อพนักงานหรือศาล

นอกเหนือจาก 8 ข้อนี้ สามีภริยาสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

สรุป

เมื่อชายหญิงจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ย่อมถือว่าเงินทองรวมกันเป็นกระเป๋าเดียวกันแล้ว

  • นิติกรรมที่ต้องขอความยินยอม นั้น จะเป็น นิติกรรมที่ ทำให้อีกฝ่ายอาจเสียผลประโยชน์ ประมาณว่าหากทำแล้วต้องเป็นหนี้ร่วมกัน ก็ต้องถามความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนเสมอ หากฝ่าฝืน คู่สมรสอีกฝ่ายอาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เช่น ให้กู้ยืม (ต้องเสียเงินที่หาได้ร่วมกัน) ขายที่ดิน(อีกฝ่ายต้องเสียที่ดิน) เป็นต้น
  • แต่สังเกตุว่า หากนิติกรรมใดที่เป็นคุณ หรือเป็นผลดีต่อทั้งคู่ ไม่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายแต่อย่างใดเช่น ได้รับเงิน ไม่ต้องขอความยินยอมว่ารับได้หรือไม่

มีปัญหาการแบ่งสินสมรส การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่อีกฝ่ายไม่ได้ให้ความยินยอม

ปรึกษาทนายชีวารัตน์


ประมวลกฎหมายแพ่ง และ พาณิชย์ มาตรา 1476
            สามีและภริยา ต้องจัดการ สินสมรส ร่วมกัน หรือ ได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
                    (1) ขายแลกเปลี่ยนขายฝากให้เช่าซื้อจำนองปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนอง ซึ่ง อสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
                    (2) ก่อตั้ง หรือ กระทำให้สุดสิ้นลง ทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่ง ภาระจำยอมสิทธิอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินสิทธิเก็บกิน หรือ ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
                    (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เกิน สามปี
                    (4) ให้กู้ยืมเงิน
                    (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่ การให้ ที่พอควรแก่ ฐานานุรูป ของครอบครัว เพื่อ การกุศล เพื่อ การสังคม หรือ ตามหน้าที่ธรรมจรรยา
                    (6) ประนีประนอมยอมความ
                    (7) มอบข้อพิพาท ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
                    (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกัน หรือ หลักประกัน ต่อ เจ้าพนักงาน หรือ ศาล
            การจัดการ สินสมรส นอกจาก กรณีที่บัญญัติไว้ ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยา จัดการได้ โดยมิต้อง ได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 6942/2562

ข.จดทะเบียน โอนที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นสินสมรส ระหว่าง โจทก์ กับ ข.ให้แก่จำเลย โดยเสน่หา เป็นกรณี ที่ ข.จัดการสินสมรส โดยปกติต้องได้รับความยินยอม เป็นหนังสือ ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476(5) และ มาตรา 1479 แม้ความยินยอม ที่ต้องทำเป็นหนังสือ จะไม่ได้ทำที่สำนักงานที่ดิน และ ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ ผู้ให้ความยินยอม ลงลายมือชื่อ ในหนังสือยินยอม ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ก็มีผลสมบุรณ์ ตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ.มาตรา 1479 ข.จดทะเบียน โอนที่ดิน พิพาท ซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นหนังสือ ของ โจทก์ ซึ่งเป็นภริยา จึงเป็นการทำนิติกรรม ที่ ข.ทำไป ลำพัง ฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรม ที่ ไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้โจทก์ ที่ไม่ได้ให้ความยินนยอม ชอให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมนั้นได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่ตราบใดที่นิติกรรมยังไม่ถูกศาลเพิกถอน นิติกรรมนั้นยังมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดินพิพาท กฎหมายมิได้บัญญัติว่า นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำดับนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ คงบัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกศาลเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทให้โดยเสน่หาระหว่าง ข.กับจำเลย จึงหาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์ซึ่งเป็นภริยาทราบดีว่า ข.ผู้ตายได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วเพราะจำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ให้ธนาคารจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และที่ดินอีกสองแปลงของโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันในการที่ ข.ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์ไม่อาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นอีกได้ และสภาพแห่งการเป็นสินสมรสของที่ดินพิพาทย่อมหมดสิ้นไปนับแต่ ข.ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมโอนให้แก่จำเลยแล้ว (หมายเหตุ 1.โจทก์ และ ข.เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ข.โอนที่ดินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยก่อนที่ ข.จะโอนที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยชำระหนี้เงินกู้ที่ ข.เป็นหนี้ธนาคาร โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน 2.โจทก์ฎีกาว่า เมื่อการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ข.กับจำเลยไม่มีหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมจากโจทก์ นิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจึงไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 152 3.ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ คงบัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกศาลเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการโอนที่ดินโดยเสน่หาจึงหาตกเป็นโมฆะไม่)

คำพิพากษาฎีกาที่ 6232/2552

จำเลยที่ 2 รู้จักกับโจทก์ตั้งแต่เด็กและทราบว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมรสกันแล้วมีทรัพย์สินเป็นที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 จึงทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทน แต่ก็เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องเพิกถอนนิติกรรมที่ผูกพันสินสมรสทั้งหมด มิใช่เฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ยินยอมเท่านั้น
แม้โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสทั้งหมดโดยโจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ แต่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว ศาลชั้นต้นกลับพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะในส่วนของโจทก์ อันเป็นการมิได้พิพากษาให้เป็นไปตามข้อหาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีเสียให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247