ไม่มีสัญญากู้ยืมเงิน มีเพียงเช็คและข้อความ “เพื่อชำระหนี้เงินกู้” ฟ้องได้หรือไม่

คำถาม

จ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ โดยที่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้ ฟ้องได้หรือไม่?

คำตอบ

การจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ หรือ มีข้อความว่า “เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ” ไม่อาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ดังนั้นถือว่าการกู้ยืมดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีได้

เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่  7050/2557  

บริษัทเอ็กซ์ตร้า   บิ๊ก เซลล์  จำกัด. โจทก์

บริษัทบา เซียน ถัง  ฟาร์มาซี จำกัด กับพวก จำเลย

จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งฉบับให้ ฟ. สามีของ อ. แล้ว อ. นำเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับนั้นมามอบให้โจทก์อึกต่อหนึ่ง ดังนั้น โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็ค พิพาททั้งสี่ฉบับให้แก่ ฟ. เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 4  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ตามทางไต่สวนของโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพี่อ ชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่  2 ยืมเงินไปจาก ฟ. โดยไมมีการทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เป็นหลักฐานโจทก์คงมีแต่พยานหลักฐานที่เป็นข้อความที่จำเลยที่ 2  เขียนว่า เพื่อชำระหนี้เงินกู้ไว้ด้านหลังเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ และจำเลยที่  2  ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้น ซึ่งลำพังพยานหลักฐานดังกล่าวรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่  2  ได้นำเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมาชำระหนี้เงินกู้เท่านั้น หาได้มีความหมายว่าจำเลยที่ 2  ได้กู้ยืมเงิน ฟ. จึงถือไมได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653  เท่ากับมูลหนี้แห่งการกู้ยืมเงิน ที่โจทก์อ้างว่าได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้นั้น มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นมูลหนี้ที่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบเป็นความผิดตามบท กฎหมายดังกล่าว

******ฉะนั้น หากมีคนมายืมเงิน เกินกว่า 2,000 บาท จึงควรทำสัญญากู้ยืม หรือ หลักฐานการกู้ยืมเงิน เช่น จดหมาย หรือข้อความว่า ใคร ยืมเงิน ใคร จำนวนเท่าไร่ และลงลายมือชื่อคนยืม เช่น “นาย ก. ยืมเงินนาย ข. ห้าพันบาท ลงลายมือชื่อ นาย ก.” เป็นต้น

มีปัญหากู้ยืมเงิน ฟ้องเรียกคืนเงินกู้ ผิดนัดชำระหนี้ ปรึกษาทนายชีวารัตน์

………………………………………….

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ป.พ.พ. มาตรา  653  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534   มาตรา  4

ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ